รู้ทันสาเหตุและวิธีป้องกัน เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งเซลล์มะเร็ง สาเหตุการเกิดโรคมะเร็ง
มะเร็ง เป็นโรคร้ายที่ไม่มีใครอยากเผชิญ ไม่ว่ากับตัวเองหรือคนในครอบครัว โรคนี้คร่าชีวิตผู้คนมากมายทั่วโลก บทความนี้จึงขอพาทุกท่านไปรู้จักกับ สาเหตุของโรคมะเร็ง และวิธีป้องกันมะเร็งเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรค ที่จะช่วยให้คุณห่างไกลจากโรคร้ายนี้
มะเร็ง โรคร้ายที่เข้าใจไม่ยาก
มะเร็ง (Cancer) คือ กลุ่มโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย เซลล์เหล่านี้จะเจริญเติบโตและแบ่งตัวเร็วเกินปกติ และแพร่กระจายแบบควบคุมไม่ได้ ส่งผลให้เกิดเป็นก้อนเนื้อร้ายหรือเนื้องอกร้าย ที่ลุกลามผ่านทางระบบเลือดหรือระบบทางเดินน้ำเหลืองไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย
รู้จัก 10 อันดับโรคมะเร็งที่พบได้บ่อย
ในปัจจุบัน โรคมะเร็งมีอยู่หลายชนิด สามารถเกิดได้ทุกอวัยวะ เช่น ปอด ตับ เต้านม ซึ่งสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งแต่ละที่ก็มีความแตกต่างกันไป โดยโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยมีดังนี้
มะเร็งปอด
มะเร็งเต้านม
มะเร็งลำไส้
มะเร็งปากมดลูก
มะเร็งตับ
มะเร็งกระเพาะอาหาร
มะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งท่อน้ำดี
มะเร็งผิวหนัง
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง
มะเร็ง เป็นโรคร้ายที่แพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งที่แน่ชัดได้ อาจเกิดได้จากสาเหตุเดียวหรือมาจากหลากหลายสาเหตุก็ได้ ดังนั้น การตระหนักถึงปัจจัยการเกิดจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้ โดยสามารถจำแนกปัจจัยการเกิดโรคมะเร็งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
ปัจจัยภายนอก
ได้รับสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของเซลล์ ทำให้เซลล์เจริญเติบโตและแบ่งตัวผิดปกติ และกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ สามารถพบได้ในอาหาร อากาศ เครื่องดื่ม ยารักษาโรค และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น บุหรี่ สารเคมี รังสี
การได้รับรังสีที่เป็นพลังงานสูง สามารถกระตุ้นเซลล์มะเร็งได้ เช่น รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ในแสงแดด
การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสเอชไอวี (HIV) ไวรัสเอชพีวี (HPV) ไวรัสตับอักเสบบีและซี (Hepatitis B & C Virus) สามารถทำให้เกิดมะเร็งได้
การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น แบคทีเรีย Helicobacter pylori ที่สามารถทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร
การกินอาหารไขมันสูง อาจเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งโพรงมดลูก มะเร็งหลอดอาหาร
ปัจจัยภายใน
ความผิดปกติทางพันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงของยีนหรือโครโมโซม สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
ความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ที่มีหน้าที่ป้องกันร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม หากระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เซลล์มะเร็งอาจเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้โดยไม่ถูกทำลาย
ภาวะทุพโภชนาการ ร่างกายขาดสารอาหารบางชนิด หรือได้รับอาหารที่ไม่ครบถ้วน เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี และโฟเลต อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้
คนไข้มาพบแพทย์เมื่อพบความผิดปกติที่อาจเป็นมะเร็ง
การสังเกตอาการโรคมะเร็งด้วยตัวเอง
อาการของโรคมะเร็งจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค และตำแหน่งของเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายไป
ในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยมักไม่มีอาการแสดงชัดเจน อาจรู้สึกอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร กินอาหารได้น้อยลง ผอมซูบ น้ำหนักลด แต่เมื่อโรคลุกลาม อาการจะเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น โดยขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มะเร็งแพร่กระจายไป
ตัวอย่างอาการที่พบบ่อย มีดังนี้
ก้อนเนื้อ
เลือดออกหรือมีเลือดปน ในน้ำมูก น้ำลาย ปัสสาวะ หรืออุจจาระ
อาการปวดที่รุนแรงหรือเรื้อรัง ที่ศีรษะ ท้อง หรือหลัง
อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เบื่ออาหาร
ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด
ชาหรืออ่อนแรงตามมือ แขน ขา
มองเห็นไม่ชัด
ไฝ หูด หรือปานในร่างกายตามส่วนต่าง ๆ เริ่มเปลี่ยนแปลง เช่น ใหญ่ขึ้น หรือสีเปลี่ยน
อื่น ๆ เช่น ไข้เรื้อรัง เสียงเริ่มแหบ เหงื่อออกตอนกลางคืน
การสังเกตอาการด้วยตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ควรตื่นตระหนก ซึ่งหากพบอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างทันท่วงที
วิธีป้องกันโรคมะเร็ง
การลดความเสี่ยงโรคมะเร็งเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีมากขึ้น โดยมีข้อแนะนำดังนี้
งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมครั้งสำคัญที่สุด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากมะเร็งปอดและโรคอื่น ๆ
เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย โดยเฉพาะผักจำพวกบรอกโคลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี กะหล่ำดาว ผลเบอร์รี ถั่วแดง และถั่วเขียว ที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นในการต่อสู้กับมะเร็ง
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งหลายชนิด
หลีกเลี่ยงการเผชิญกับสารเคมีอันตราย เช่น สารจำพวก ยาฆ่าแมลง น้ำยาทำความสะอาด น้ำมันเบนซิน ที่เกี่ยวโยงกับการเกิดมะเร็ง
นอนหลับให้สนิทและพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ที่มีคุณสมบัติในการต่อสู้กับมะเร็งได้
ตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเป็นประจำ เมื่อสังเกตเห็นอาการผิดปกติของร่างกาย