ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเลือดออกใต้ตาขาว (Subconjunctival hemorrhage)  (อ่าน 197 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 472
  • ลงประกาศฟรี
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเลือดออกใต้ตาขาว (Subconjunctival hemorrhage)
« เมื่อ: วันที่ 19 กรกฎาคม 2024, 13:44:23 น. »
ตรวจอาการเลือดออกใต้ตาขาว (Subconjunctival hemorrhage)

เลือดออกใต้ตาขาว เกิดจากหลอดเลือดฝอยที่อยู่ใต้เยื่อตาขาวแตกเป็นรอยห้อเลือด เห็นเป็นปื้นแดงที่บริเวณตาขาว ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเด็กและผู้ใหญ่

รอยห้อเลือดที่ตาขาว


สาเหตุ

ส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บ เช่น ถูกตี ถูกต่อย ถูกชน ถูกแรงกระแทก หรือเผลอขยี้ตาแรง ๆ

บางรายอาจเกิดจากอาการไอหรือจามรุนแรงจนหลอดเลือดฝอยในตาขาวแตกได้ เช่น ไอกรน หลอดลมอักเสบ เป็นหวัด เป็นต้น

ผู้ป่วยเยื่อตาขาวอักเสบจากเชื้อไวรัส บางครั้งอาจมีรอยห้อเลือดในตาขาวได้

ส่วนน้อยที่อาจเกิดจากภาวะเลือดออกง่าย เช่น โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ ไอทีพี มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น พวกนี้มักมีจุดแดงจ้ำเขียวตามตัว และอาจมีเลือดออกตามส่วนอื่น ๆ ของร่างกายร่วมด้วย หรืออาจเกิดจากโรคติดเชื้อรุนแรง เช่น เล็ปโตสไปโรซิส เป็นต้น


อาการ

ตาขาวเป็นปื้นแดง หรือรอยห้อเลือด อาจเป็นข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ โดยไม่มีอาการปวดตาหรือตาพร่ามัวร่วมด้วย

มักมีประวัติและอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยตามแต่สาเหตุที่เป็น เช่น การได้รับบาดเจ็บ การไอจามแรง ๆ มีไข้ หรือมีจุดแดงจ้ำเขียวตามตัว เยื่อตาขาวอักเสบ เป็นต้น


ภาวะแทรกซ้อน

ขึ้นกับโรคที่เป็นต้นเหตุเป็นสำคัญ ถ้าเกิดจากหลอดเลือดฝอยในตาขาวแตกจากการไอหรือจาม มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนอะไร

ในรายที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง อาจมีเลือดออกในช่องลูกตาหน้า (hyphema)* ร่วมด้วย โดยจะมีอาการปวดตารุนแรงและตาพร่ามัวร่วมด้วย

*เลือดออกในช่องลูกตาหน้า คือภาวะที่มีเลือดออกในช่องลูกตา (anterior chamber ซึ่งเป็นช่องที่อยู่ด้านหน้าสุดของลูกตา คืออยู่ระหว่างกระจกตากับแก้วตา) อาจเกิดจากการบาดเจ็บ หรือเกิดขึ้นจากภาวะเลือดออกง่าย อาจพบร่วมกับภาวะเลือดออกใต้ตาขาวได้ (ดูเพิ่มเติมที่ ตาได้รับบาดเจ็บรุนแรง)


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก โดยจะตรวจพบตาขาวมีปื้นแดงหรือรอยห้อเลือด

บางรายแพทย์อาจทำการตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์ เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ในรายที่มีสาเหตุจากการได้รับบาดเจ็บที่ตา ถ้ามีอาการปวดตา ตาพร่ามัว หรือมีเลือดออกในช่องลูกตาหน้า แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล

2. ถ้ามีจุดแดงจ้ำเขียว มีเลือดตามส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย มีไข้ ตับโต ม้ามโต หรือสงสัยมีสาเหตุที่ร้ายแรง แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาตามสาเหตุ

3. ถ้าเกิดจากเยื่อตาขาวอักเสบจากไวรัส (มีอาการเคืองตา น้ำตาไหล) ก็ให้การรักษาแบบเยื่อตาขาวอักเสบจากไวรัส

4. ถ้ามีสาเหตุจากการไอจาม หรือไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ไม่ปวดตาและยังมองเห็นชัดดี แพทย์จะอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจ และให้ผู้ป่วยสังเกตอาการโดยไม่ต้องให้ยารักษา ซึ่งรอยห้อเลือดจะค่อย ๆ จางหายได้เองใน 1-4 สัปดาห์

ผลการรักษา ขึ้นกับสาเหตุ ถ้าเกิดจากการบาดเจ็บเล็กน้อย หรือจากการไอ จาม รอยห้อเลือดจะค่อย ๆ จางหายได้เองใน 1-4 สัปดาห์


การดูแลตนเอง

1. ถ้าพบว่าตาขาวเป็นปื้นแดงหรือรอยห้อเลือด และมีอาการปวดตา ตาพร่ามัว เคืองตามาก หรือน้ำตาไหลร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว และดูแลรักษาตามที่แพทย์แนะนำ

2. ถ้าไม่มีอาการปวดตาและยังมองเห็นได้ชัดดี ไม่มีอาการตาพร่ามัว ไม่มีประวัติว่าตาได้รับบาดเจ็บรุนแรง และมั่นใจว่าเป็นเลือดออกใต้ตาขาวจากตาได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย หรือจากการไอแรง ๆ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    หลีกเลี่ยงการไอจามแรง ๆ เมื่อรู้สึกอยากจะไอจาม ให้รีบอ้าปากกว้างขณะไอจาม
    ระวังอย่าเผลอขยี้ตา
    หากรู้สึกเคืองตา ใช้น้ำตาเทียมหยอดตาวันละ 2-3 ครั้ง
    สังเกตอาการทุกวัน รอยห้อเลือดจะค่อย ๆ ลดขนาดและจางลง จนหายขาดภายใน 1-4 สัปดาห์


ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีประวัติว่าตาได้รับบาดเจ็บรุนแรง
    มีอาการปวดตา ตาพร่ามัว หรือน้ำตาไหล
    มีเลือดออกที่อื่น ๆ มีจุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนัง หรือมีไข้ร่วมด้วย
    รอยห้อเลือดลุกลามมากขึ้น
    อาการไม่ทุเลาใน 1-2 สัปดาห์ 
    มีความวิตกกังวลหรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง


การป้องกัน

ถ้าเกิดจากการบาดเจ็บ หาทางป้องกันไม่ให้ตาได้รับบาดเจ็บ

ถ้าเกิดจากการไอรุนแรง ควรรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุและกินยาบรรเทาอาการไอ


ข้อแนะนำ

อาการเลือดออกใต้ตาขาวที่เกิดจากตาได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย หรือจากการไอแรง ๆ มักไม่มีอันตรายและค่อย ๆ หายไปได้เอง

อย่างไรก็ตาม ควรแยกให้ออกว่าไม่ได้มีเลือดออกในช่องลูกตาหน้า (จากการบาดเจ็บที่รุนแรง และมีอาการปวดตา ตาพร่ามัวร่วมด้วย) และไม่ได้เกิดจากภาวะเลือดออกง่ายจากโรคทางเลือด (มักมีอาการจุดแดงจ้ำเขียวหรือเลือดออกที่อื่น ๆ ร่วมด้วย) หรือเยื่อตาขาวอักเสบ (มีอาการเคืองตา น้ำตาไหล ตาแดง มีขี้ตา) หากไม่แน่ใจควรไปพบแพทย์ตรวจให้แน่ใจ