ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: มะเร็งตับอ่อน (Pancreatic cancer)  (อ่าน 48 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 504
  • ลงประกาศฟรี
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: มะเร็งตับอ่อน (Pancreatic cancer)
« เมื่อ: วันที่ 11 ธันวาคม 2024, 22:14:39 น. »
หมอประจำบ้าน: มะเร็งตับอ่อน (Pancreatic cancer)

มะเร็งตับอ่อน พบได้ไม่บ่อยนัก พบได้ประมาณร้อยละ 1 ของมะเร็งทางเดินอาหาร พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 1.5 เท่า มักพบในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป และพบได้มากยิ่งขึ้นในคนอายุ 60 ปีขึ้นไป

สาเหตุ

ยังไม่ทราบแน่ชัด พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดนี้ ได้แก่

    การสูบบุหรี่
    ภาวะอ้วน หรือเบาหวาน
    ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง หรือตับแข็ง (ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการดื่มสุราจัด)
    การบริโภคไขมันสัตว์มาก และกินผักผลไม้น้อย
    การสัมผัสสารเคมี (เช่น น้ำมันเบนซิน สารกำจัดศัตรูพืช สีย้อมบางชนิด ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปิโตรเลียม)
    การมีประวัติโรคนี้ หรือมะเร็งชนิดอื่น (เช่น มะเร็งเต้านม รังไข่ มดลูก กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ไต) ในครอบครัว ซึ่งสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์

อาการ

ระยะแรกมักไม่มีอาการแสดง จนกว่ามะเร็งลุกลามมากแล้วก็จะมีอาการปวดท้องส่วนบนและปวดร้าวไปที่หลัง ซึ่งมักปวดเวลาหลังอาหารหรือนอนลง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีอาการแบบอาหารไม่ย่อย ตาเหลืองตัวเหลือง อุจจาระสีซีดขาว (เนื่องจากก้อนมะเร็งอุดกั้นทางเดินน้ำดี) คันตามผิวหนัง อาจคลำได้ก้อนในท้อง ตับโต คลื่นไส้ อาเจียน (เนื่องจากลำไส้อุดกั้นจากก้อนมะเร็ง) ท้องเดินเรื้อรัง (เนื่องจากผลิตเอนไซม์ย่อยอาหารได้น้อย ทำให้การดูดซึมผิดปกติ) หรือมีอาการที่เกิดจากมะเร็งแพร่กระจายไปยังที่อื่น


ภาวะแทรกซ้อน

อาจทำให้มีอาการเจ็บปวด น้ำหนักลดมาก

เมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้นลุกลามไปที่อวัยวะข้างเคียง ทำให้เกิดภาวะอุดกั้นของท่อน้ำดี (มีอาการตาเหลืองตัวเหลือง อุจจาระสีซีดขาว) ทางเดินอาหารอุดกั้น (ปวดท้อง อาเจียน) มีเลือดออกในลำไส้ (ทำให้ถ่ายอุจจาระดำ โลหิตจาง) เข้าในช่องท้อง (ทำให้ปวดท้อง ท้องมาน) และในระยะท้ายมักแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปที่ปอด (เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก), ตับ (เจ็บชายโครงขวา ตาเหลืองตัวเหลือง ท้องมาน), กระดูก (ปวดกระดูก กระดูกพรุน กระดูกหัก ปวดหลัง ไขสันหลังถูกกดทับ) และอาจไปที่สมอง (ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก เวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินเซ แขนขาชาและเป็นอัมพาต ชัก)


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยโดยการตรวจอัลตราซาวนด์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การส่องกล้องและฉีดสีเข้าไปในท่อน้ำดี (endoscopic retrograde cholangiopancreatography/ERCP)

อาจทำการตรวจหาระดับสารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) ได้แก่ สารCA 19-9 ซึ่งมีส่วนช่วยในการวินิจฉัยและการติดตามผลการรักษา

โดยทั่วไปแพทย์จะตรวจชิ้นเนื้อเวลาทำการรักษาด้วยการผ่าตัด

หากจำเป็นแพทย์อาจทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดก่อนให้การรักษา ด้วยการตรวจชิ้นเนื้อโดยการใช้เข็มเจาะดูด (fine-needle aspiration) หรือใช้กล้องส่องเข้าช่องท้อง และตัดชิ้นเนื้อนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ

  หากพบว่าเป็นมะเร็งก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ (เช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า-MRI, การตรวจเพทสแกน-PET scan เป็นต้น) เพื่อประเมินว่าเป็นมะเร็งระยะใด


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัด หรือให้รังสีบำบัดและเคมีบำบัดในรายที่ผ่าตัดไม่ได้

ผลการรักษาไม่สู้ดี มักอยู่ได้ไม่นาน (มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีต่ำกว่าร้อยละ 10) ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อมีอาการมาพบแพทย์ก็มักจะพบว่าเป็นมะเร็งระยะท้าย ๆ แล้ว


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการปวดท้องส่วนบนและปวดร้าวไปที่หลัง, มีอาการแบบอาหารไม่ย่อยเรื้อรัง, ตาเหลืองตัวเหลืองและอุจจาระสีซีดขาว, น้ำหนักลด เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งตับอ่อน ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
    หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
    ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
    ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
    ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
    ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
    ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
    ขาดยาหรือยาหาย
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ


การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันอย่างได้ผล อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับอ่อน ดังนี้

    ไม่สูบบุหรี่
    หลีกเลี่ยงการดื่มสุราจัด เพื่อลดการเป็นโรคตับแข็งและตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง (โรคสองชนิดนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับอ่อน)
    ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
    หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
    กินอาหารที่มีไขมันสัตว์ต่ำ และกินผักและผลไม้ให้มาก ๆ

ข้อแนะนำ

1. ผู้ที่มีอาการปวดท้อง ปวดหลังเรื้อรัง หรือน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด

2. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี