ความทรงเก่าในบ้านยุคเก่า บางครั้งก็ยังหอมหวลอยู่ในใจเสมอ อาจจะเป็นเพราะความคุ้นชินเมื่อยังเด็กที่ไม่ลืม หรือข้อดีบางอย่างของแบบบ้านดั้งเดิมที่ทำให้ชื่นชอบ เจ้าของบ้านใหม่ๆ บางหลังจึงประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาเก่าๆ มาควบรวมเข้าด้วยกัน อย่างโครงการบ้านในเวียดนามหลังนี้ก็เกิดขึ้นมาจากแนวคิดแบบที่ว่า ถ้าเราดูเผินๆ ก็จะเห็นว่าเป็นบ้านสมัยใหม่ที่ออกแบบได้แปลกตากับผนังบ้านโค้งเฉลียงกว้างๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นการผสมผสานระหว่างสองรูปแบบสถาปัตยกรรม คือ บ้านแบบมีเฉลียงกว้างๆ แบบเวียดนามดั้งเดิม และบ้านยกพื้นสูงของชนพื้นเมืองในที่ราบสูงตอนกลาง
บ้านผนังโค้งหลังคากันสาดกว้าง
บ้านมีพื้นที่ 50 ตร.ม. ตั้งอยู่ในพื้นที่สวน 400 ตร.ม. ถัดจากบ้านหลังใหญ่ของครอบครัวในเมืองบวนมาถวต (ดั๊กลัก ) เจ้าของบอกว่าบ้านเล็ก ๆ หลังนี้สร้างเพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำงานและรับแขกแบบเงียบสงบเป็นอิสระจากตัวบ้านหลัก หรือ เรือนที่มีเฉลียงเป็นพื้นที่เปลี่ยนผ่าน สถานที่ต้อนรับแขก ร่วมงานสังสรรค์ หรือพักผ่อนร่วมกับเรือนหลัก ซึ่งมักพบบ้านรูปแบบนี้ในพื้นที่ดินทางตอนใต้
ผสมผสานระหว่างเฉลียงในสถาปัตยกรรมแบบเวียดนามดั้งเดิมและเสาค้ำของสถาปัตยกรรมพื้นเมืองในที่ราบสูงตอนกลาง โดยออกแบบโดยไม่มีประตู เปิดได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ตัวอาคารแทบไม่มีฟาซาดหรือเปลือกบ้านแบบปกติ แต่บ้านได้รับการปกป้องสายตาจากกำแพงเอียง ๆ เมื่อผ่านประตูรั้วเข้าไป หลังกำแพงสีขาวก็จะค่อย ๆ เผยให้เห็นโครงสร้างที่แสดงถึงธรรมชาติที่แท้จริงของสถานที่ โดยมีเส้นทางสีเขียวนำทางเข้าสู่ภายใน
สถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมของที่ราบสูงตอนกลางสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในพื้นห้องนั่งเล่นซึ่งอยู่สูงกว่าพื้นดิน โครงสร้างเชิงพื้นที่จากบ้านยกพื้นสูงแบบชาติพันธุ์มีความสูงปานกลาง ผ่อนคลาย ไม่กี่ก้าวจะนำไปสู่สถานที่สังสรรค์ ดื่มชา และรับแขก พื้นที่ของบ้านนี้มีห้องน้ำแยกต่างหากจากบ้านหลังใหญ่ ตรงผนังสีขาวโค้งๆ มีเคาน์เตอร์ชากาแฟสำหรับรับแขก ห้องดื่มชาหรือพักผ่อนสำหรับเจ้าของ ทุกพื้นที่สามารถเคลื่อนที่ได้และยืดหยุ่น โดยไม่มีกรอบพื้นที่ใช้งานที่ชัดเจน ระเบียงบ้านกว้างๆ ที่เป็นเหมือนส่วนต่อขยายระหว่างพื้นที่ภายในและที่เชื่อมต่อชีวิตส่วนตัวกับพื้นที่ภายนอกอย่างลื่นไหล
สวนน้ำขนาดเล็กๆ ที่มุมผนังและสวนที่อยู่อีกฟากฝั่งกลายเป็นเสมือน “ปอด” ของบ้าน ที่เพิ่มความชุ่มชื่นมีชีวิตชีวา และในขณะเดียวกันก็มอบความสุนทรีและความเงียบสงบให้กับทุกคนที่ได้แวะมานั่งพัก
เพื่อแสดงถึงความเป็นสถาปัตยกรรมที่ประยุกต์จากบ้านดั้งเดิม ทีมงานจึงเลือกใช้วัสดุเก่าและวัสดุสมัยใหม่มาผสมผสานกัน อาทิ ระบบกระจกบนหลังคา skylight โครงสร้างเหล็ก ไม้ที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นไม้เก่าซึ่งนำกลับมาใช้ใหม่ ข้อดีของไม้เก่าคือมีความคงตัวและหดตัวน้อย หลังคากระเบื้องสีแดงก็เป็นวัสดุที่คุ้นเคยของบ้านในชนบทของเวียดนามในอดีต ซึ่งนักออกแบบทำขอบเชิงชาย (ส่วนล่างสุด) ให้อยู่ในระยะเอื้อมถึง กระเบื้องแถวต่ำสุดยื่นออกมาจากพื้นเฉลียงไม่สูง พอให้เห็นหยาดฝนตกกระทบหญ้าและสระน้ำแบบไม่กระเซ็น หลีกเลี่ยงการโดนฝนในพื้นที่ภายในด้วย
การออกแบบที่เปิดโล่ง ช่วยให้เจ้าของบ้านไม่ถูกจำกัดการมองเห็นด้วยผนังก่อทึบตายตัว ห้องต่างๆ เปิดรับธรรมชาติภายนอก ให้ความรู้สึกกว้างขวางและโปร่งสบาย พื้นที่โล่งยังช่วยให้สมาชิกในครอบครัวติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายและสะดวกสบาย
บ้านที่น่าอยู่ควรมีพื้นที่พักผ่อนและใช้สอยทำกิจกรรมบริเวณภายนอกบ้านด้วย เพราะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีทางเลือกในการพักผ่อน โดยบางบ้านอาจเลือกออกแบบให้มีชานโล่งๆ กลางแจ้ง หรือทำเป็นเฉลียงมีหลังคาคลุมไว้เป็นมุมนั่งเล่น เปลี่ยนบรรยากาศทานอาหาร ที่ให้ความรู้สึกปลอดโปร่งและใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น และยังเป็นตัวกลางส่วนเชื่อมต่อระหว่างบ้าน 2 หลัง หรือระหว่างบ้านกับส่วนอื่น ๆ เช่น สวน ซึ่งการมีเฉลียงนอกจากใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้แล้ว ยังทำหน้าที่ปกป้องตัวบ้านจากแสงแดด ฝนได้เป็นอย่างดี
ออกแบบบ้าน: บ้านเฉลียงกว้าง ยกพื้นสูง นั่งห้อยขาชมสวนน้ำ อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://realestatebb.com/