ผู้เขียน หัวข้อ: ดอกบัวอบแห้ง: ‘บัว’ ดอกไม้พุทธบูชา มากความหมายสื่อหลักธรรม  (อ่าน 370 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 450
  • ลงประกาศฟรี
    • ดูรายละเอียด
ดอกบัวอบแห้ง: ‘บัว’ ดอกไม้พุทธบูชา มากความหมายสื่อหลักธรรม

ดอกบัว ดอกไม้ที่มีประวัติเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาถูกนำมาใช้ในการบูชาพระมาช้านาน ในความสำคัญของดอกบัวซึ่งเชื่อมโยงถึงหลักธรรมคำสอน แฝงความหมายงดงามลึกซึ้ง

“วิสาขบูชา” ถือเป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา ด้วยเป็นวันที่พระ พุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้และเสด็จดับขันธปรินิพพานเวียนมาบรรจบในวันและเดือนเดียวกัน คือ วันเพ็ญเดือนวิสาขะ ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6

ในวันสำคัญนี้นับแต่ช่วงเช้าพุทธ ศาสนิกชนจะพร้อมใจกันทำบุญตักบาตร ให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม เจริญภาวนา ส่วนในเวลาเย็นจะมีการเวียนเทียนรอบพระอุโบสถพระพุทธรูป ฯลฯ ตั้งจิตมั่นระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยโดยมีเทียน ธูป และดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชา

ดอกบัว ดอกไม้ที่มีประวัติเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาถูกนำมาใช้ในการบูชาพระมาช้านาน  ในความสำคัญของดอกบัวซึ่งเชื่อมโยงถึงหลักธรรมคำสอน แฝงความหมายงดงามลึกซึ้ง ดร.สวัสดิ์ อโณทัย คณบดีคณะปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ให้ความรู้ว่า  สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนามีอยู่หลายอย่างโดยทางตรงสิ่งที่เห็นคือ พระพุทธรูป  พระธรรมจักร ส่วนอีกสัญลักษณ์ที่กล่าวกันในเชิงการตีความได้มีการกล่าวถึง “ดอกบัว”  โดยดอกบัวเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาอยู่มากนับแต่พระพุทธเจ้า พระสาวกและหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาซึ่งใช้ดอกบัวเป็นอุปมา ดังเช่น เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติมีดอกบัวรองรับ 7 ดอก การตรัสรู้และปรินิพพานก็มีดอกบัวเข้ามาเกี่ยวเนื่อง

“ข้อความที่กล่าวอยู่ในพระไตรปิฎกหรือในอรรถกถาพูดถึงดอกบัวอยู่หลายเรื่อง แต่โดยภาพรวมกล่าวถึงดอกบัว เป็นการยกย่อง เชิดชูบูชาสูงสุด ดังเช่น เปรียบดอกบัวเป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนา เปรียบดอกบัวกับมหาปุริสลักษณะของพระพุทธเจ้า  เปรียบดอกบัวกับการพัฒนาคุณธรรมดั่งดอกบัว 4 เหล่า  เปรียบดอกบัวถึงการพัฒนาสู่จุดสูงสุดการบรรลุธรรม ดังที่กล่าวกันถึงและได้ยินอยู่เสมอคือ บัวสี่เหล่าอีกทั้งดอกบัวยังนำมาเป็นสัญลักษณ์พูดถึงพระที่ประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบและในบางครั้งนำมาเป็นสิ่งเชิดชูเกียรติการปกครองของพระราชาผู้ครองทศพิธราชธรรม และที่พบเห็นมากในคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงใช้เป็นการอุปมา อุปไมยดอกบัวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์”

บัว  เป็นต้นไม้ที่มีลักษณะเด่นหลายประการจึงได้รับการยกย่อง อีกทั้งจะเห็นได้ว่าในอารยธรรมเก่าแก่ของโลก อย่างอารยธรรมอินเดีย ในศาสนาพราหมณ์จะใช้ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวข้องกับเทพเจ้า หรือหากมองไปทางตะวันตก ในอารยธรรมเก่าแก่อย่างอารยธรรมอียิปต์พบการใช้ดอกบัวเป็นสื่อสัญลักษณ์เช่นเดียวกัน สำหรับในทางพระพุทธศาสนา การนำดอกบัวเป็นสื่อแนวคิด เช่น คัมภีร์มิลินทปัญหาได้แจงถึงข้อธรรมและหลักธรรมต่าง ๆ โดยผู้ที่ศึกษาพระพุทธศาสนามักกล่าวถึง ความสำคัญของบัวไว้ คือ บัวเป็นสิ่งที่เกิด เจริญงอกงามในน้ำเกิดจากเปือกตม แต่เมื่อเติบโตขึ้นมาก็มิได้นำเอาโคลนตมขึ้นมาด้วย

บัวเป็นสิ่งที่ผุดขึ้นจากน้ำสามารถตั้งอยู่เหนือน้ำได้และแม้เมื่อถูกแรงลมพัดพา บัวนั้นก็ยังคงความสง่างาม  การเปรียบเช่นนี้เชื่อมโยงกับหลักธรรมซึ่งกล่าวถึงการพัฒนาตนเองที่ไม่ยึดติดอยู่กับโลกธรรมต่าง ๆ และพยายามนำตัวเองให้หลุดพ้น บัวในทางพระพุทธศาสนา จึงเป็นสิ่งที่น่าเชิดชูบูชา

บัว ในทางพุทธศาสนามีความลึกซึ้ง อุปมาเปรียบบุคคลเหมือนดอกบัว 4 จำพวก ได้แก่ บัวพ้นน้ำ ผู้ที่มีความพร้อมมีปัญญาสามารถมองเห็นเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ อย่างมีเหตุผลได้ บัวปริ่มน้ำ จำต้องพัฒนาซึ่งเมื่อขยายความเล็กน้อยก็จะมีความเข้าใจ บัวที่อยู่ใต้น้ำ ต้องอาศัยการเพาะบ่ม อบรมฝึกฝนอยู่เสมอ และบัวที่จม อยู่กับโคลนตมเป็นเหยื่อของสัตว์น้ำ แม้จะได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้  แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาตนเองมีแนวทางที่เรียกว่า ไตรสิกขา มีศีล สมาธิ ปัญญา  สิกขา ในที่นี้หมายถึง การฝึกฝนเพาะบ่ม  ซึ่งการอบรมตนเองจะนำไปสู่การพัฒนา มองเห็นเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ในสิ่งที่เป็นสัจธรรม     

ดอกบัว เป็นดอกไม้สำคัญในพระพุทธศาสนาในข้อคิด ข้อธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับบัว แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพุทธศาสนา ในเรื่องของการกระทำ ซึ่งแม้จะเกิดมาดีแต่หากกระทำไม่ดีบั้นปลายก็อาจไม่ได้ดี ขณะที่บางคนตั้งมั่นทำแต่ความดีก็จะได้รับผลดีในภายหลัง ดังมีคำกล่าวที่ว่า มืดมาสว่างไป สว่างมาสว่างไปหรือมืดมามืดไปก็มีปรากฏ ฯลฯ

ดอกบัวยังมีความหมายแทนความดีงามมีความหมายลึกซึ้ง มองดอกบัวแล้วอาจย้อนมองมาที่ตัวเราได้ซึ่งดอกบัวเชื่อมโยงกับหลักธรรมคำสอนทั้งหมดเป็นดั่งเข็มทิศนำทางพัฒนาคุณภาพชีวิต  ดอกไม้ชนิดอื่นที่นำมาใช้บูชาในพระพุทธศาสนามีหลายชนิด แต่ดอกไม้ที่มักนำมาใช้เพื่อการบูชาโดยมากเป็นดอกบัวและนอกเหนือจากเป็นดอกไม้ที่นำมาบูชาแล้วยังใช้ในพิธีกรรมด้วย

ในวันสำคัญวันนี้และทุกวันอยากฝากถึงแก่นความหมายของดอกบัวในแง่การพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองและการอยู่ร่วมในสังคมด้วยการละชั่ว ทำดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ด้วยการตั้งกุศลจิตในการคิดดี ทำดี พูดดี การทำความดีให้เกิดขึ้นในทุก ๆ วัน   อีกทั้งมองเพื่อนมนุษย์ในฐานะเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ขอจงไม่เบียดเบียน พยาบาทอาฆาตแก่กันและกัน  มีความเมตตาต่อกัน การยกระดับจิตดังกล่าวนี้จะก่อเกิดความรัก ความสงบสุขให้อภัยกันและกัน และเมื่อนั้นสังคมจะมีความสันติสุขและโลกก็จะมีสันติภาพเกิดขึ้น.

‘สังสารวัฏ’ วงจรแห่งทุกข์ รู้หลักปฏิบัติหลุดพ้นได้

“การเวียนว่ายตายเกิด” หรือ “วงจรของสังสารวัฏ” นั้นอยู่ในวัฏสงสารเป็นความทุกข์ ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรก็เป็นทุกข์ทั้งสิ้น ซึ่งเรามักจะได้ยินพระพุทธองค์เปล่งอุทานว่า ’การเกิดบ่อย ๆ เป็นทุกข์ทั้งนั้น“ ดังนั้นพระองค์จึงทรงสอนวิชาดับทุกข์ที่พระองค์ค้นพบให้แก่ชาวโลก โดยทรงสอนให้ปฏิบัติสู่นิพพาน อันเป็นที่สิ้นสุดการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อไม่เกิดก็ไม่ทุกข์

โดยก่อนที่มนุษย์ทั้งหลายจะได้มีโอกาสกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกนั้นไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ พอตายไปก็กลับมาเกิดเป็นคนได้ง่าย ๆ แต่ขึ้นอยู่กับการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาทางกาย วาจา ใจ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “กรรม” จะมีผลสะท้อนกลับมากำหนดวิถีชีวิตของเราในปัจจุบันและอนาคตโดยตรง ในเมื่อทุกชีวิตล้วนดำเนินไปตามกฎแห่งกรรม ทั้งกรรมดี กรรมชั่ว กรรมเก่า กรรมใหม่ และกรรมในอนาคต ล้วนแล้วแต่มนุษย์เป็นผู้ก่อขึ้นเองทั้งนั้น

ดังนั้นจึงควรใช้ชีวิตให้ดีที่สุด เพราะทุกอย่างที่เรากระทำด้วยความตั้งใจทางกาย วาจา และใจ ถึงจะเกิดจากกรรมก็จริงอยู่แต่ไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะใช้กรรมเก่าเพียงอย่างเดียว ส่วนหนึ่งเรากำลังใช้ชีวิตเพื่อสร้างกรรมใหม่ในปัจจุบันด้วย ซึ่งผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ได้นั้นหลักสำคัญต้องมี “มนุษยธรรม” หรือธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ นั่นคือ การรักษาเบญจศีล (ศีล 5) และเบญจธรรมหรือข้อพึงปฏิบัติ 5 ประการ

เรื่องกรรมของมนุษย์มีหลายคนสงสัยว่าเกิดเป็นคนเหมือนกันแต่ทำไมไม่เหมือนกัน บางคนดี บางคนบ้า บางคนสูง บางคนต่ำ บางคนรวย บางคนจน ฯลฯ เป็นเพราะการทำกรรมของมนุษย์ทั้งหลายที่เคยกระทำไว้นั่นเอง จึงมีกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ทำให้เรารู้จักเลือกทำแต่กรรมดีเพื่อสร้างชีวิตที่ดีและสามารถเลือกภพที่ตนปรารถนาได้ด้วยในอนาคต และหากเราจะเลือกเกิดในภพไหนต้องรู้เสียก่อนว่าภพที่จะไปเกิดมีกี่ภพ

ภพที่คนเราจะไปเกิดมี 5 ภพ หรือ 2 คติ คือ 1. ทุคติ ได้แก่ นรก เดรัจฉาน เปรต (รวมอสุรกาย) 2. สุคติ ได้แก่ มนุษย์ เทวดา (รวมพรหม) เราจึงมักได้ยินผู้ที่ไปร่วมงานศพอธิษฐานว่า “ขอให้ … (ระบุชื่อคนตาย) ไปสู่สุคติเถิด” คือ หมายความว่าขอให้เขาไปเกิดเป็นเทวดาหรือไม่ก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกนั่นเอง แต่การที่เราอยากกลับมาเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 10 ประการที่เรียกว่า “กุศลกรรมบถ10” ได้แก่ เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เว้นจากการลักขโมย เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่โลภอยากได้สิ่งของของผู้อื่น ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่นและมีความเห็นชอบถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น รู้ดี รู้ชั่ว เชื่อผลแห่งกรรม เชื่อในคุณบิดา มารดา

นอกจากนี้บนสวรรค์ที่ใคร ๆ อยากไปเกิดนั้นแบ่งเป็น 6 ชั้น ได้แก่ จาตุมหาราชิกาเทวภูมิ คอยสอดส่องมนุษย์ที่ประกอบผลบุญ แล้วรายงานต่อพระอินทร์ ดาวดึงส์เทวภูมิ มีสถานที่สำคัญที่สุดคือ พระเกศจุฬามณีเจดีย์ ซึ่งบรรจุพระเกศโมลีและพระบรมธาตุเขี้ยวแก้วเบื้องขวาแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยามาเทวภูมิ สวรรค์ชั้นนี้สูงกว่าพระอาทิตย์และพระจันทร์ ทำให้มีแสงสว่างส่องไปทั่วทิศ ดุสิตาเทวภูมิ เป็นที่สถิตของพระศรีอาริย์และพระสิริมหามายาเทพบุตร (พระพุทธมารดา) นิมมานนรดีเทวภูมิ เทพยดาในสวรรค์ชั้นนี้

จะมีรูปร่างหน้าตาสวยงามกว่าสวรรค์ทั้ง 4 ที่ผ่านมา ต้องการสิ่งใดเนรมิตได้ดั่งใจ และปรนิมมิตวสวัตดีเทวภูมิ เทพยดาชั้นนี้หากต้องการสิ่งใด เทพยดาอื่นจะรู้แล้วเนรมิตให้แตกต่างจาก นรก หรือนิรยภูมิ จัดอยู่ในดินแดนที่ปราศจากความสบาย เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ซึ่งนรกมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล แบ่งเป็น 8 ขุมใหญ่ เรียกว่า มหานรก มีขุมบริวาร 128 ขุม เรียกว่า อุสสทนรก ขุมนรกย่อยเรียกว่ายมโลก 320 ขุม และโลกันตนรกอีก 1 ขุม รวม 457 ขุม สัตว์ที่ใช้กรรมในมหานรกหมดแล้วจะต้องไปรับกรรมในอุสสทนรกและยมโลกต่อไปจนกว่าจะหมดกรรมที่ตนกระทำไว้

สุดท้ายหากใครที่ไม่อยากติดอยู่ในวงจรแห่งทุกข์ แต่อยากหลุดพ้นมีวิธีปฏิบัติดังนี้ อธิษฐานจิตมุ่งมั่นให้บรรลุความสิ้นอาสวะคือนิพพาน ดังที่กล่าวอธิษฐานกรวดน้ำว่า

’อาสะวักขยา วะหัง โหตุ นิพพานัง โหตุ“ เพียรระวังไม่ให้เผลอทำบาป เพียรเลิกละบาปที่เคยทำโดยเด็ดขาด เพราะหากทำบาปกรรมอีกจะต้องเสียเวลาไปเกิดในอบายภูมิอีกนานแสนนาน เพียรรักษาบุญความดีไว้ให้มั่นคงเพื่อเกิดในภพภูมิที่ดียิ่งขึ้น เพียรสร้างกุศลให้เพิ่มพูนขึ้นตลอดเวลา เพียรสลัดตัดกิเลสโซ่ที่ผูกมัด คือสังโยชน์ 10 ประการให้ขาดหมดไปทีละข้ออันเป็นต้นตอแห่งทุกข์ ทำให้เกิดมาในวัฏสงสาร เมื่อสลัดตัดถึงข้ออวิชชาได้ถือว่าบรรลุพระนิพพานหมดโซ่ตรวนผูกมัด หลุดพ้นจากวงจรแห่งทุกข์ก็พ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง